ความเป็นมา
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตระหนักถึงความสำคัญของทันตบุคลากรที่จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ดำเนินงานด้านควบคุมการบริโภคยาสูบ และได้จัดทำโครงการควบคุมการบริโภคยาสูบของวิชาชีพทันตแพทย์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา
โดยได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกสถาบัน, ภาควิชาทันตสาธารณสุข วิทยาลัยการสาธารณสุขทุกแห่ง, สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย, กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนทันตบุคลากรไทยในการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมา
พ.ศ.2542
• กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ทำการสำรวจระดับประเทศ เรื่องประสบการณ์การช่วยเลิก บุหรี่ของทันตแพทย์ไทย พบว่าทันตแพทย์ส่วนใหญ่มีความรู้แต่ไม่ได้ช่วยแนะนำการเลิกบุหรี่
พ.ศ.2543
• กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ผลิตคู่มือช่วยเลิกบุหรี่ 4A’s in dental clinic และจัดฝึกอบรม ทักษะการช่วยเลิกบุหรี่ ให้ทันตแพทย์สังกัดกระทรวงฯที่สนใจ
พ.ศ.2544
• วิชาชีพทันตแพทย์เข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
พ.ศ.2545
• กรมอนามัย ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก ทดลองรูปแบบทันตแพทย์ช่วยเลิกบุหรี่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ( จ.กาญจนบุรี จ.น่าน จ.เชียงราย และ จ.ชุมพร )
• มีการเสนอในวาระการประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เรื่องการเรียนการสอนเทคนิคช่วยเลิกบุหรี่ในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรี แต่ไม่ได้ข้อสรุป
พ.ศ.2547
• สร้างกลุ่ม “ Thai Dentist Against Tobacco Club ”
• ร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายห้ามโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย ในนามวิชาชีพทันตแพทย์
• เสนอให้มีการใช้ภาพเตือนเรื่องผลเสียต่อสุขภาพช่องปากบนซองบุหรี่
พ.ศ.2548
• สสส. สนับสนุนงบดำเนินการ “แผนกลยุทธ์วิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ” เริ่มจากคณะทำงานสามกลุ่ม คือ ทันตแพทยสมาคมฯ กระทรวงสาธารณสุข และ คณะทันตแพทยศาสตร์
พ.ศ.2549
• ปรับแผนการดำเนินงานเป็น 5 แผนงานย่อยตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน คือ ทันตบุคลากรสังกัด กทม., ทันตบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทย์เอกชน, คณะทันตแพทยศาตร์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษา
• กำเนิด “NoNo กระต่ายขาเดียว”สัญลักษณ์ของวิชาชีพทันตแพทย์แสดงถึงการปฏิเสธบุหรี่มวนแรก
• เริ่มมีการอบรมทักษะการช่วยคนไข้ทันตกรรมเลิกบุหรี่“Smoking cessation practice” ในคณะทันตแพทยศาสตร์ 3 แห่ง จาก 8 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล
• พัฒนาต้นแบบคลินิกทันตกรรมช่วยเลิกบุหรี่ ในศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัด กทม.
พ.ศ.2550
• กิจกรรม “NoNo” Roadshow ใน 4 จังหวัด 4 ภาค; ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ: จังหวัดขอนแก่น, ภาคใต้: จังหวัดสงขลา, ภาคกลาง: กทม.
• คลินิกทันตกรรมในสังกัด กทม. ทั้งหมด 79 แห่งเป็นคลินิกทันตกรรมช่วยเลิกบุหรี่โดยใช้เทคนิก 3A ในการช่วยเลิกบุหรี่( Ask Advise Assess ) และส่งต่อคลินิกอดบุหรี่
• สร้างโครงการนำร่องเพื่อคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปาก( opportunistic oral cancer screening ) ในผู้ป่วยทันตกรรมที่สูบบุหรี่
พ.ศ.2551
• พัฒนาการเรียนการสอนเรื่องการช่วยเลิกบุหรี่ในคณะทันตแพทยศาสตร์และโรงเรียนทันตาภิบาล
พ.ศ.2552
• คลินิกทันตกรรม ในสังกัด กทม. 40 แห่ง จาก 79 แห่ง เพิ่มระดับความเข้มข้นของกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ จาก 3A และส่งต่อ เป็น 5A ช่วยเลิกบุหรี่ที่คลินิกทันตกรรม ( Ask Advise Access Assist Arrange )
พ.ศ.2553
• การรณรงค์ด้วย online and social media เปิดตัวเว็บ www.nonogang.com และ Facebook page NoNo
พ.ศ.2554
• จังหวัดที่เข้าร่วมกิจกรรมคัดกรองรอยโรคมะเร็งในช่องปากในกลุ่มเสี่ยงและผู้สูบบุหรี่ เพิ่มเป็น 12 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา นครราชสีมา อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และแพร่
พ.ศ.2555
• คณะทันตแพทย์ทุกแห่งในประเทศไทย (ภาครัฐ 8 แห่ง ภาคเอกชน 1 แห่ง) เข้าร่วมในเครือข่าย และประกาศนโยบายคณะทันตแพทย์ปลอดบุหรี่ 100%
พ.ศ.2556
• รณรงค์ “NoNo กระต่ายขาเดียว” ป้องกันผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยทันตบุคลากร
• สารคดีสั้นสามตอน Dentist’s role in smoking cessation เผยแพร่ใน Youtube
พ.ศ.2557
• เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่5 ทั่วประเทศ จำนวน 50,000 คน ส่งคำขวัญการปฏิเสธบุหรี่มวนแรกเข้าร่วมโครงการ “NoNo กระต่ายขาเดียว”
• พัฒนาระบบคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเต็มพื้นที่ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมลงนามใน MOU กับ รองอธิบดีกรมอนามัย
• จัดทำข้อมูลทางวิชาการเพื่อเตรียมการเสนอให้การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปาก( Oral cancer screening ) เป็นนโยบายสุขภาพระดับชาติ
พ.ศ.2558
• จัดบูธนิทรรศการ ทันตแพทย์ไทยช่วยเลิกบุหรี่ ในการประชุมวิชาการทันตแพทย์นานาชาติ World Dental conference 2015 ที่ไบเทค กรุงเทพ และประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทย สนับสนุน พรบ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่
• ภาพกิจกรรมนักศึกษาทันตแพทย์ในวันงดสูบบุหรี่โลก สนับสนุน พรบ.ยาสูบฉบับใหม่ ขึ้นหน้าหนึ่ง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2558
พ.ศ.2559
• ขยายความร่วมมือโครงการคลินิกทันตกรรมช่วยเลิกบุหรี่กับทันตแพทย์ภาคเอกชน
• พัฒนารูปแบบทันตแพทย์ช่วยเลิกบุหรี่ “Dentist Hero” ซึ่งแสดงความหมายว่าหมอฟันสามารถช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้ โดยประสานความร่วมมือกับ QuitLine 1600 เพื่อสนับสนุนทันตแพทย์ภาคเอกชนที่ยินดีร่วมโครงการแต่ไม่มีทักษะในการช่วยเลิกบุหรี่
• ก่อตั้ง webpage เพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ “ Quit by Dentist ” สำหรับเป็นช่องทางการสื่อสารให้ให้ข้อมูลแก่ทันตแพทย์ที่สนใจงานช่วยเลิกบุหรี่
พ.ศ.2560
• คลินิกทันตกรรมสนับสนุนการเลิกบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร เพิ่มขบวนการคัดกรองรอยโรคในช่องปาก (Oral lesion screening ) เบื้องต้น แก่ผู้ป่วยทันตกรรมที่สูบบุหรี่
• “ร้อยเอ็ดโมเดล” รูปแบบการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากและระบบส่งต่อ ถูกนำไปพิจารณาเพื่อขยายผลโดยกระทรวงสาธารณสุข
วิสัยทัศน์
วิชาชีพทันตแพทย์เป็นผู้นำและสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบทุกรูปแบบ
พันธกิจ
- เพิ่มการเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ให้ประชาชน โดยทันตบุคลากร
- พัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชน
- พัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรด้านการควบคุมยาสูบทั้งในระดับคลินิก โรงพยาบาล สถานบันการศึกษาทันตแพทยศาสตร์และที่เกี่ยวเนื่อง ชุมชน และประเทศ
- ประสานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ผลักดันนโยบายสาธารณะในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
วัตถุประสงค์
- สร้าง ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
- เพิ่มจำนวนการเข้าร่วมโครงการของคลินิกทันตกรรม เพื่อให้คำแนะนำ และช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่หรือส่งต่อไปรับบริการเลิกบุรี่
- สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมสำหรับทันตบุคลากรเพื่อใช้ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
- ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในวิชาชีพทันตแพทย์และนอกวิชาชีพทันตแพทย์เพื่อการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมยาสูบ รวมทั้งผลกระทบอันเนื่องมาจากการบริโภคยาสูบ แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายหลัก
- ทันตบุคลากร ประกอบด้วย ทันตแพทย์ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์
- นิสิต นักศึกษาทันตแพทย์ นักเรียนทันตาภิบาล
กลุ่มเป้าหมายรอง
- ประชาชน เน้นผู้รับบริการทันตกรรม และนักเรียน
- ภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ